เสริมศักดิ์” ปลื้ม วธ. ร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ออกคูหาประเทศไทยในงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ประจำปี 2567
“เสริมศักดิ์” ปลื้ม วธ. ร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ออกคูหาประเทศไทยในงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ประจำปี 2567 วันที่ 11 – 14 มีนาคม 2567 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน คาดนำเม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่า 2,000 ล้านบาท
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายขับเคลื่อน Soft Power ส่งเสริมให้นำวัฒนธรรมไทยไปใช้อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกม ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น แอนิเมชัน เป็นต้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อน Soft Power ของไทยสู่นานาชาติ สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับนานาชาติและดำเนินการตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564 ) เช่น การส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งเสริมการร่วมลงทุนผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระหว่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรสาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การส่งเสริมการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการและบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
ในปี 2567 นี้ วธ. จึงบูรณาการร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงพาณิชย์ นำผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์และบริการที่เกี่ยวเนื่อง จำนวน 27 ราย พร้อมด้วยสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทย เข้างานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ประจำปี 2567 (Hong Kong International Film & TV Market (FILMART) 2024) ณ ศูนย์การประชุมและการจัดงานแสดงแห่งฮ่องกง (HKCEC) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11 – 14 มีนาคม 2567 เพื่อส่งเสริมการนำคอนเทนต์ประเทศไทย ผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย รวมทั้งผู้ประกอบการด้านการผลิตและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง เข้าสู่เวทีการเจรจาและจัดจำหน่ายธุรกิจระดับนานาชาติ ภายใต้แนวคิด Content Thailand ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์และแอนิเมชัน (Film Production and Distribution) จำนวน 9 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด 2) บริษัท เดอวอร์เรนท์ พิคเจอร์ จำกัด 3) บริษัท ไนท์ เอดจ์ พิคเจอร์ส คอร์ปอเรชั่น จำกัด 4) บริษัท แบล็ค ดรากอน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 5) บริษัท ฟิล์ม เฟรม โปรดักชั่น จำกัด 6) บริษัท เมเจอร์ จอยน์ ฟิล์ม จำกัด 7) บริษัท เวลเคิร์ฟ จำกัด 8) บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9) บริษัท ฮอลลีวู้ด (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรายการและละครโทรทัศน์ (Television Content and Formats) จำนวน 10 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท 9 หน้า โปรดักชั่น จำกัด 2) บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด 3) บริษัท เช้นจ์2561 จำกัด 4) บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด 5) บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด (เวิร์คพอยท์ กรุ๊ป) 7) บริษัท บี ออน คลาวด์ จำกัด 8) บริษัท สตาร์ ฮันเตอร์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด 9) บริษัท สตูดิโอ วาบิ ซาบิ จำกัด 10) บริษัท เฮโล โปรดักส์ชั่น จำกัด กลุ่มบริษัทบริการเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Production and Post Production Services) มีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 8 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท กันตนา โฮลดิ้งส์ จำกัด 2) บริษัท เดอะ สตูดิโอ พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด 3) บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด 4) บริษัท เบนีโทน ฟิล์มส์ จำกัด 5) บริษัท เรติน่า ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด 6) บริษัท ล๊อคแมน2011 จำกัด 7) บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 8) บริษัท แอ็กซ์ สตูดิโอ จำกัด
นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในโอกาสนี้ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมยังร่วมสนับสนุนกิจกรรมเข้าร่วมงาน Breaking Borders:Exploring Global Reach of Thai Content with Linmon International ณ ห้อง Moonlight Theater ศูนย์การประชุมและการจัดงานแสดงแห่งฮ่องกง (HKCEC) ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกงฯ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจบันเทิงไทยและสร้างเครือข่าย หรือ Thai Night ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมกิจการและผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์ในการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจภาพยนตร์ของไทยและต่างชาติ รวมถึงต่อยอดความร่วมมือไปสู่การเป็นพันธมิตรทางการค้าในอนาคต ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์สู่ระดับสากล มุ่งให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นธุรกิจบันเทิงในฐานะ Soft Power สร้างรายได้และภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยต่อไป
นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า งานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง เป็นงานตลาดซื้อขายคอนเทนต์ระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นเทศกาลแรกของปี 2024 และเป็นตลาดคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ภายในงานมีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักแสดง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์อย่างคับคั่ง ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 7000 คน สามารถสร้างมูลค่าเจรจาการค้า มากกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าเมื่อจบงาน จะสามารถสร้างมูลค่าเข้าประเทศ ได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท งานดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศในเวทีนานาชาติได้ และเป็นการเผยแพร่ภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทยแก่ผู้เกี่ยวข้องในวงการทั่วโลก รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเข้าประเทศอย่างมหาศาล
ไม่มีความคิดเห็น