Header Ads

การสัมมนาโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร "โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้"

การสัมมนาโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร

"โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้"

          จากซ้ายไปขวา​   ศ.ดร.สิริวัฒน์ วงษ์สิริ , ศ.ดร.นสพ.ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร ,ศ.ดร.ปกรณ์ อุดมพันธุ์ , ศ.นพ.สุรพล อิสรไกลศรี , ศาสตราจารย์​นายแพทย์พินิจ กุลลวณิชย์ ,คุณจันทร์ประภา วิชิตชลชัย ,ศ.ดร.ภก.ชยันต์ พิเชียรสุนทร , ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ

          การสัมมนาโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจรเป็นความร่วมมือของ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคพาร์กินสันและกล่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดประชุมวิชาการเรื่อง "โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้" รูปแบบออนไลน์และออนไซต์ เพื่อมุ่งหวังในการที่จะสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนในประเทศไทย เนื้อหามีความน่าสนใจ ทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญเกิดความรู้ ความตระหนัก ความตื่นตัวของอาการเตือนของโรคพาร์กินสันในผู้ป่วยระยะแรก แนวทางในการวินิจฉัยหรือการประเมินอาการโดยใช้ระบบดิจิทัลเทคโนโลยีปัจจุบันนี้มีประโยชน์ในการค้นหากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก หรืออาการเสี่ยงของการเกิดเป็นโรคนี้เป็นจำนวนมากซึ่งโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตจริงของคนในปัจจุบันนี้ซึ่งต้องหาแนวทางในการป้องกันต่อไป สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ณ. โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ถนนหลานหลวง กรุงเทพมหานคร

          การกล่าวรายงานโดยศาสตราจารย์ ดร. ภก.ชยันต์  พิเชียรสุนทร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวเปิด การประชุมโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุรพล  อิสรไกรศีล  นายกราชบัณฑิตยสภา และศาสตราจารย์​นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สภากาชาดไทย ผู้ดำเนินการอภิปรายและจัดประชุมโดย ศาสตราจารย์ นพ.รุ่งโรจน์  พิทยศิริ ภาคีสมาชิก เป็นการให้ข้อมูลทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคพาร์กินสัน สาธารณสุข เทคโนโลยี ราชบัณฑิต และภาคีสมาชิกที่มีความมุ่งมั่น มุ่งหวังในการที่จะสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนในประเทศไทย ซึ่งหัวข้อในการบรรยายเนื้อหามีความน่าสนใจที่ทำให้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงความสำคัญของโรคพาร์กินสันว่าจริงๆไม่ได้เป็นโรคที่มีอยู่ไกลตัวในชีวิตจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน

 

          ซึ่งปัจจุบันเป็นสังคมของผู้สูงอายุที่มีผู้สูงอายุมากถึง 14% ของประเทศไทย ในขณะเดียวกันข้อมูลของโรคพาร์กินสันในเรื่องของการป้องกันที่ได้พูดในโครงการที่เสวนานี้ ยังสามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่างของการดูแลสุขภาพทางด้านสมอง เพื่อการป้องกันโรคสมองในภาพรวมอีกด้วย โดยการบรรยายในวันดังกล่าวได้พูดในเชิงระบาดวิทยาที่แสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทั่วโลก และรวมถึงทั่วประเทศไทย

          โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอายุที่น้อยลงจากอายุโดยเฉลี่ย 65 ปี จำนวนผู้ป่วยพาร์กินสันอายุน้อยมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาทางคลินิกหรืออาการของผู้ป่วยพาร์กินสันทำให้มีความเข้าใจเพิ่มเติมอีกด้วยว่า โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคที่ค่อนข้างช้า โดยที่ผู้ป่วยนั้นจะมีอาการนำของการเตือนมากกว่า 5-10 ปี ก่อนจะเริ่มมีอาการของโรคพาร์กินสัน ซึ่งช่วงของระยะแรกของโรคนี้เป็นที่น่าเสียดายในการเข้ารับการรักษา ในปัจจุบันว่าผู้ป่วยมารับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนน้อย ด้วยเหตุผลดังกล่าว การเสวนาในครั้งนี้จึงมุ่งหวังที่ให้เกิดความรู้ ความตระหนัก ความตื่นตัวของอาการเตือนในโรค พาร์กินสัน และผู้ป่วยพาร์กินสันระยะแรก แนวทางในการวินิจฉัยหรือการประเมินอาการโดยใช้ระบบดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งในปัจจุบัน มีประโยชน์ในการค้นหากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรก หรืออาการเสี่ยงของการเกิดโรคนี้เป็นจำนวนมาก

 

การเสวนาในวันนี้ได้ให้ข้อมูลตัวอย่างถึงความเป็นไปได้และสิ่งที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ทดสอบระบบดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำในระดับสูง พร้อมที่จะใช้ในการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทย สำหรับกลุ่มที่มีอาการระยะแรกหรืออาการเสี่ยงเพื่อการป้องกันโรคต่อไป

          การเสวนาในช่วงหลังจะพูดในเรื่องของแนวทางการป้องกันโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นการปรับมุมมองจากเมื่อสมัยก่อนโรคสมองเสื่อม และโรคพาร์กินสัน ถูกคิดว่าเป็นโรคที่เป็นแล้วไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ มาสู่แนวคิดที่ว่าโรคสมองเสื่อม และโรคพาร์กินสัน ก็สามารถป้องกันได้ ถ้าเราเริ่มต้นเร็ว ปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอ และปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในหลายๆ ด้านที่เน้นในเรื่องของการทานอาหารสุขภาพที่มีประโยชน์  การออกกำลังกายที่ดีต่อสมอง การนอนแบบมีสุขลักษณะ ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้ส่งผลให้เป็นการช่วยเพิ่มระบบสำรองของสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะมีอาการแสดงออกที่ช้า หรืออาจมีอาการแสดงออกเพียงเล็กน้อยในช่วงอายุที่มาก โดยการเสวนานี้ได้เน้นย้ำเรื่องการปรับคุณภาพชีวิตในเรื่องของ Eat Move Sleep โดยสรุปแต่ละหัวข้อได้ดังนี้

 

1. โรคพาร์กินสันป้องกันได้จริงหรือไม่: การปรับเปลี่ยนสุขภาพ, การออกกำลังกาย, อาหารเมดิเตอร์เรเนียน และความเป็นไปได้ของการปรับวิธีการทานอาหารเพื่อป้องกันโรคในประเทศไทย 

ปัจจุบันเชื่อว่าการป้องกันโรคพาร์กินสันอาจจะสามารถเริ่มต้นได้จากการรับประทานอาหารของแต่ละบุคคล โดยอาหารเมดิเตอร์เรเนียนเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบหลักมาจาก ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว ปลา สัตว์ปีก น้ำมันมะกอก และไวน์แดง ในปัจจุบันพบว่าอาหารเมดิเตอร์เรเนียนมีหลักฐานสนับสนุนอย่างดีว่าสามารถช่วยป้องกันและลดอาการของโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้ เพราะอาหารเมดิเตอร์เรเนียนมีสารอาหารที่สำคัญต่อสุขภาพสมอง เช่น แร่ธาตุ วิตามิน และอุดมด้วยไขมันดี โอเมก้า-3 เป็นต้น โดยจากการศึกษาด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพบว่า ผู้สูงวัยที่รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอย่างต่อเนื่องจะมีความเสี่ยงของการเกิดอาการพาร์กินสันน้อยกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับประทาน และผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียนอย่างต่อเนื่องจะลดอาการของโรคพาร์กินสันทั้งอาการทางการเคลื่อนไหวและอาการที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่ไม่ได้รับประทานอาหารเมดิเตอร์เรเนียน เป็นต้น เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การออกกำลังกาย และการเลือกทานอาหารสุภาพเชิงรุกจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและชะลอความก้าวหน้าของโรค ทั้งนี้การตรวจเช็คสุขภาพและปรึกษาแพทย์เป็นประจำก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษาสุขภาพระยะยาวและเฝ้าระวังโรคพาร์กินสันรวมถึงโรคความเสื่อมทางระบบประสาทอื่นๆ ได้อีกด้วย  

 2. การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค และผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน 

การออกกำลังกายสม่ำเสมอสามารถทำได้ในคนทั่วไปตั้งแต่อายุน้อยจนถึงผู้สูงอายุ โดยอาจจะสามารถป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสันได้ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือมีอาการนำก่อนการเกิดโรคพาร์กินสันก็อาจจะสามารถป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสันได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเองถ้าได้ออกกำลังกายก็อาจจะชะลอการดำเนินโรคได้ โดยการออกกำลังกายแบบแอโรบิกในระดับกลางขึ้นไป เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ทำสวน  ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก ต่อยมวย หรือ เล่นกีฬาเป็นทีม จนทำให้ร่างกายเหนื่อย เหงื่อออก แต่ยังพูดเป็นประโยคได้ เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์หรือนับก้าวเดินอย่างน้อย 6,000-10,000 ก้าวต่อวัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเร็วในการเดิน ส่วนการออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสันสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะแรกของโรค โดยการออกกำลังกายหลากหลายรูปแบบ (Multimodality intervention) ประกอบด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่นเดียวกับผู้สูงอายุทั่วไป การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายเพื่อฝึกการเดินและการทรงตัว เพื่อการเดินที่มั่นคง และลดการหกล้ม โดยเน้นการออกกำลังกายที่ทำได้จริง สม่ำเสมอ ตอนยาออกฤทธิ์ ออกกำลังกายทั้งในบ้านและนอกบ้าน ทั้งนี้ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุที่เกิดจากการออกกำลังกาย จะทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างมีความสุข 

3. การนอนที่มีคุณภาพ นอนดี ชีวิตดี ห่างไกลโรคพาร์กินสันในอนาคต การนอนหลับที่มีคุณภาพ ถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่สามารถช่วยป้องกันโรคความเสื่อมทางระบบประสาท เนื่องจากในขณะหลับร่างกายจะมีกลไกที่ช่วยกำจัดโปรตีนของเสียที่เป็นสาเหตุของโรคความเสื่อมของระบบประสาท การนอนหลับที่ดี ประกอบไปด้วยระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสม ซึ่งจะขึ้นกับช่วงอายุ และคุณภาพการนอนที่ดี คือ สามารถหลับได้ต่อเนื่องครบวงจรของทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และไม่มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในช่วงตื่นนอน เช่น ไม่ง่วงนอนระหว่างวัน มีสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานที่ดี อารมณ์ดีร่วมด้วย นอกจากนี้อาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนยังเป็นหนึ่งในกลุ่มอาการนำ (prodromal symptom) ที่สำคัญของการเกิดโรคพาร์กินสัน ได้แก่ อาการนอนละเมอผิดปกติเรื้อรัง (REM sleep behavior disorder, RBD) ดังนั้น การส่งเสริมคุณภาพการนอนที่ดี จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรปฏิบัติ ประกอบด้วย การมีสุขนิสัยการนอนที่ดี (sleep hygiene) การสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอน เพื่อค้นหาสาเหตุและให้การรักษาอย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน หรือกลุ่มที่มีอาการนำ ควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันมากขึ้น และไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยรักษา ส่วนผู้ป่วยพาร์กินสัน นอกเหนือจากแนวทางปฏิบัติแบบประชากรทั่วไป หรือกลุ่มที่มีอาการนำแล้ว ควรต้องสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะนอนที่มีได้หลากหลายทั้งอาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และนอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เพื่อแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลได้ทราบ และมีรับประทานยาหรือปรับการรักษาตามที่แพทย์ผู้ดูแลแนะนำต่อไป 

สิ่งที่สำคัญของการดูแลสุขภาพสมอง โรคพาร์กินสันไม่ได้มีแค่ยารักษาโรคที่เป็นเม็ดหรือแคปซูลโดยเฉพาะที่สามารถป้องกันโรคพาร์กินสันได้ แต่สิ่งที่ป้องกันโรคพาร์กินสันได้นั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติ 3 เรื่องดังกล่าวข้างต้น สิ่งสำคัญเหล่านี้ต้องปฏิบัติพร้อมกันทันที และต่อเนื่อง คณะผู้จัดงานหวังว่าแนวคิดในการเสวนาในครั้งนี้จะเกิดผลบวกต่อสังคมไทยในการตระหนัก รู้ถึงความสำคัญของโรคพาร์กินสัน สังเกตและประเมินอาการถึงความเสี่ยงของตนเองในเบื้องต้น และหากมีข้อสงสัยควรไปพบแพทย์ ซึ่งหวังว่าจะเกิดผลเชิงบวกในการป้องกันโรคพาร์กินสันเรื่อง Eat Move Sleep โดยมีการรับรองผลงานวิจัยที่ได้ผลจริงในเชิงปฏิบัติของสังคมไทย

#​โรคพาร์กินสัน

#​โรคพาร์กินสันและการป้องกัน ความฝันหรือความจริงที่เป็นไปได้

#​kaomaadoo.net

CHATCHAI​  DAENGKASEM

0830760579​

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.