“อนุทิน” เปิดงาน “สื่อสาร กัญ อย่างเข้าใจ” ย้ำกัญชาเป็นประโยชน์และทางเลือกในการรักษาให้ประชาชน
“อนุทิน” เปิดงาน “สื่อสาร กัญ อย่างเข้าใจ” ย้ำกัญชาเป็นประโยชน์และทางเลือกในการรักษาให้ประชาชน จัดทำโดย กรมประชาสัมพันธ์
วันที่ 17 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้อง Magic ที่โรงแรมมิราเคล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมเปิดงาน “สื่อสาร กัญ อย่างเข้าใจ” ภายใต้โครงการ “Meet the Press : กัญชา กัญชง ประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ” โดยกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึง 3 วัตถุประสงค์ของการปลดล็อกกัญชาอย่างแท้จริง คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการดูแลสุขภาพ และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการใช้ในเชิงนันทนาการ
นายอนุทิน กล่าวว่า ระยะกว่า 2 เดือนหลังจากการ “ปลดล็อกกัญชา” ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่นานพอสมควร ทำให้เรามีข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เป็นประจักษ์ว่า “นโยบายกัญชาเสรีเพื่อสุขภาพและทางการแพทย์” ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสังคมอย่างที่หลายคนกังวลใจ โดยมีข้อมูลจากทางกรมการแพทย์ระบุถึงจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะพิษเฉียบพลัน จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา มีแนวโน้มลงลดและไม่เพิ่มขึ้น และข้อมูลจากห้องฉุกเฉินในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน – 16 สิงหาคม 2565 พบผู้ป่วยเพียง 60 ราย จากทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการตั้งคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ รณรงค์ปูพรม “ประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างถูกต้อง”
นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง จากการตรวจสอบพบว่าตลอดระยะเวลาสองเดือนมีประชาชนเข้าใช้งานเกือบ 45 ล้านครั้ง มีผู้ลงทะเบียนกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการขอออกใบจดแจ้งกัญชา 900,000 ใบ และมีการออกใบจดแจ้งกัญชาจำนวน 30,000 ใบ แสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของการใช้กัญชาอย่างถูกวิธี ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉินเพราะการใช้กัญชาลดลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการเข้าถึง แหล่งข้อมูล ความรู้ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก “พืชเศรษฐกิจ” ได้อย่างเต็มที่
จากสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่พืชกัญชายังอยู่ในบัญชีสารเสพติดพบว่าสิ่งที่ทำร้ายสุขภาพคนไทยไม่ใช่กัญชา แต่เป็นยาบ้า ในปีที่แล้วผู้ป่วยเข้าบำบัดยาบ้า 79.2% ขณะที่มีผู้เสพกัญชาเข้ารับบำบัดเพียง 4.21% นั้นเพราะยาบ้าคือศัตรูตัวจริง ไม่ใช่กัญชา ซึ่งเป็นพืชที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมอาหารและการแพทย์แผนไทยมานาน และสามารถสร้างมลูค่าได้มหาศาล ถ้าเรารู้จักใช้อย่างถูกวิธี ทั้งนี้การใช้กัญชาในทางที่ผิดหรือก่อให้เกิดโทษ เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ หากผู้ใช้กัญชาเป็นเยาวชน ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ขายผิดเงื่อนไขตามกฎหมาย นั้นจึงไม่ใช่ปัญหาของสังคม หากมีการกระทำความผิด เราก็มีกฎหมายดูแล โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ เพื่อควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด
1. ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ
2. ห้ามจำหน่ายกัญชาซึ่งเป็นพืชสมุนไพรควบคุม ให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และ สตรีให้นมบุตร
3. ห้ามใช้ช่อดอกปรุงอาหาร
4. ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ใส่กัญชา ต้องติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ และให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค
หากฝ่าฝืน มีโทษทั้งจำและปรับตามกฎหมาย ซึ่งสามารถควบคุมในระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง กำลังจะผ่านสภาในเร็ว ๆ นี้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ตลอดเวลา 2 ปี มีการผลักดันให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 200 แห่ง มี "คลินิกกัญชาทางการแพทย์" เพื่อให้ประชาชนได้รับยากัญชาที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งจากแพทย์แผนปัจจุบัน และ แพทย์แผนไทยซึ่งได้รับการบรรจุยากัญชาแผนไทยให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เป็นประโยชน์และเป็นทางเลือกในการรักษาให้ประชาชน พร้อมทั้งสามารถลดการนำเข้ายาเคมีจากต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจุบันคนไทยประสบปัญหานอนไม่หลับถึง 19 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรไทย หากพัฒนาสำเร็จยากัญชาจะสามารถทดแทนยานอนหลับได้ ลดการนำเข้ายาเคมีและเพิ่มโอกาสส่งออก เพราะ "ปัญหานอนไม่หลับ" เป็นปัญหาสุขภาพของคนทั่วโลก และตลาดผลิตภัณฑ์ ที่ใช้กับคนที่มีปัญหาการนอนหลับทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 2.4 ล้านล้านบาท และนี้คือโอกาสทางธุรกิจของกัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย
ทั้งนี้หากเรามองกัญชาในฐานะพืชเศรษฐกิจ เราจะเห็นได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต และมีความต้องการมาก ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลก ได้มีการประเมินมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมกัญชา โดยจากการประมาณการพื้นที่เพาะปลูกกัญชง - กัญชา ล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2565 ประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 7,500 ไร่ มีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ตันน้ำ ถึงผลิตภัณฑ์ ปลายน้ำ รวมกว่า 28,000 ล้านบาท ต้นน้ำ ได้แก่ ส่วนต่าง ๆ ของต้นกัญชา ให้เกษตรกรได้มาร่วมลงทุน เป็นธุรกิจ Farming กลางน้ำ สารสกัดน้ำมันกัญชงกัญชา และเส้นใยกัญชง นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ได้แก่ ยารักษาโรค อาหารเสริม อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งคาดกรณ์ว่ามูลค่าตลาดในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะโตได้ถึง 10 - 15% มีมูลค่า สูงถึง 42,800 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ปลายน้ำคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้กว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้นโยบายกัญชาเสรีจะช่วยเปิดทางให้กัญชา และ กัญชงของไทย สามารถออกไปช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก มูลค่ากว่า 1.039 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 3.53 ล้านล้านบาท) ในปี 2567 ตามรายงาน The Global Cannabis Report ของ Prohibition Partners ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมกัญชา อย่างถูกกฎหมายทั่วโลก ขณะเดียวกันตลาดกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือประมาณ 26% ต่อปี มีมูลค่าประมาณ 2,700 ล้านบาท และคาดว่าจะโตได้ถึง 40,000 ล้านบาท ภายในปี 2570
ตลาดโลกสำหรับผลิตภัณฑ์กัญชามีแต่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีลด เพราะมีประเทศจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังทยอยปลดล็อคกัญชาเช่นเดียวกับไทย ล่าสุดในหลายประเทศให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของกัญชา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เราจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชาสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น
“การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ต้องมีแรงต้าน แต่เมื่อวันนี้พวกเรามีแรงทำ และมีความพร้อมทุกอย่างที่จะผลักดัน ให้เกิดผลประโยชน์เหล่านี้ ต่อประเทศชาติ ในวันหนึ่งเมื่อการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาได้เดินไปถึงจุดหมายปลายทาง อยากขอขอบพระคุณทุกหน่วยงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนไว้ล่วงหน้า ที่ได้ร่วมผลักดันความเปลี่ยนแปลงกันมาถึงวันนี้ และที่จะทำต่อไปจนบรรลุผลที่ตั้งไว้ รวมถึงขอขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชน ที่ช่วยกันสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อพี่น้องประชาชนด้วย” นายอนุทินกล่าวทิ้งท้าย
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ เปิดเผยว่า กิจกรรม “สื่อสาร กัญ อย่างเข้าใจ” เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดจากพี่น้องสื่อมวลชนกว่า 50 คน ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติ ที่จะสะท้อนความเห็นของประชาชนมาสู่ภาครัฐ และภาครัฐเองได้บอกเล่าถึงประโยชน์ และ โทษของกัญชา ไปสู่สังคม เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องถึงประโยชน์ของการปลดล็อกกัญชาไม่เท่ากับเสรี เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชา กัญชง ที่จะสร้างมูลค่ามหาศาล ทั้งทางการแพทย์และเศรษฐกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
สำหรับกิจกรรมภายในงานอัดแน่นไปด้วยความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ และ โทษของกัญชา ทั้งในรูปแบบการบรรยาย โดย อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ภายใต้หัวข้อ “ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …” และการเสนวนาแลกเปลี่ยนความคิดจากเหล่านักวิชาการจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันกัญชาทางการแพทย์ และกรมอนามัย ในห้อข้อ “ปลดล็อกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ” นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ โรงงานผลิตยารังสิต ขององค์การเภสัชกรรม จึงได้เห็นถึงประโยชน์เชิงรูปธรรมของการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย
#kaomaadoo
CHATCHAI DAENGKASEM
0830760579
ไม่มีความคิดเห็น